แปลผลตรวจการได้ยินในการเฝ้าระวังโรค

สวัสดีครับวันนี้หมอบีจะมาแนะนำวิธีการแปลผลสมรรถภาพการได้ยิน หรือการแปลผลการได้ยินนั่นเองครับ การแปลผลที่ถูกต้องเหมาะสมนั้นจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ผลการตรวจสุขภาพ การเฝ้าระวังโรคจากการทำงาน และการวินิจฉัยโรคจากการทำงานครับ 

เป็นเรื่องน่าชื่นชมมากนะครับสำหรับสถานประกอบการสัญชาติอเมริกันบางแห่งที่เข้าใจในเรื่องการดูแลการได้ยินของพนักงาน นำผลตรวจการได้ยินมาแปลผลแบบเทียบ และนำผลการเปลี่ยนแปลงไปวิเคราะห์เพื่อเฝ้าระวังป้องกันโรคจากการทำงานให้พนักงานอย่างถูกวิธี

ก่อนจะอ่านรายละเอียดกันต่อแนะนำให้ไปกดไลค์ที่แฟนเพจ DoctorBee กันก่อนนะครับจะได้รู้จักกันครับ ^^

สถานประกอบการหลายส่วนใหญ่น่าจะทำการวิเคราะห์ผลการตรวจสุขภาพและผลตรวจการได้ยินคล้ายๆกันคือ นำผลที่มีความผิดปกติจากการแปลผลของบริษัทรับตรวจสุขภาพมาดูว่ามีร้อยละเท่าไหร่มากขึ้นหรือลดลงจากปีก่อนๆ ซึ่งผมอยากบอกว่า ทำแบบนี้เสียเวลาเปล่าครับ เนื่องจากบริษัทรับตรวจสุขภาพมักจะใช้เกณฑ์แปลผลการได้ยินแบบครั้งเดียว แต่

ภาวะหูเสื่อมจากการทำงานสัมผัสเสียงดังเป็นโรคที่แย่ลงไปเรื่อยๆ รักษาไม่หาย แม้จะปรับลักษณะการทำงานภายหลังแล้วก็จะไม่ดีขึ้นหรืออาจดีขึ้นได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นดังนั้นเราควรแปลผลการได้ยินแบบเทียบกับปีก่อนๆ ตามที่เขียนไว้ในโครงการอนุรักษ์การได้ยินครับ

ถ้าแปลผลการได้ยินแบบครั้งเดียวแบบที่บริษัทรับตรวจสุขภาพชอบแปลให้สิ่งที่พบแน่ๆคือ พนักงานคนที่ผิดปกติก็จะผิดปกติอยู่นั่นแหละครับ ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถเอาไปใช้วิเคราะห์อะไรเป็นเรื่องเป็นราวได้

ภาพการแปลผลการได้ยินให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของ OSHA

การแปลผลสมรรถภาพการได้ยินนั้นจะมีการแปลผลในสองลักษณะคือ เกณฑ์การแปลผลการตรวจแบบครั้งเดียว (One Shot Interpretation) และการแปลแบบเทียบกับการตรวจครั้งก่อนๆ หรือที่เรียกว่าเกณฑ์การแปลผลการตรวจแบบเทียบระหว่างปี (Longitudinal Interpretation)

ก่อนที่จะรู้ว่าแปลผลที่ดีทำอย่างไรเราคงต้องมาทำความเข้าใจเกณฑ์การแปลผลทั้งสองลักษณะนี้กันก่อนนะครับ

เกณฑ์การแปลผลการตรวจแบบครั้งเดียว (One Shot Interpretation) หมายถึง เกณฑ์ที่ใช้แปลผลในกรณีที่มีผลการตรวจของพนักงานแต่ละคนเพียงครั้งเดียว เช่นผลการตรวจสุขภาพของพนักงานก่อนรับเข้ามาทำงาน หรือผลการตรวจสุขภาพประจำปีครั้งแรกของพนักงานในรายการที่ไม่เคยทำการตรวจมาก่อน นอกจากนี้ยังอาจใช้ในการแปลผลที่มีผลการตรวจก่อนหน้าแต่ไม่สามารถนำมาใช้เปรียบเทียบกับผลการตรวจครั้งก่อนได้ เช่น ผลการตรวจเม็ดเลือดขาวที่มากกว่า 10000 หากเกิดจากการติดเชื้อเล็กน้อยบางอย่างในวันที่ทำการตรวจเช่นเป็นหวัดหรือท้องเสียก็จะทำให้เม็ดเลือดขาวสูงได้และจะกลับเข้าสู่ค่าปกติในเวลาไม่กี่วัน อาจกลับเป็นปกติก่อนที่พนักงานจะได้รับแจ้งผลการตรวจสุขภาพด้วยซ้ำ การนำมาเปรียบเทียบกันปีต่อปีจะทำให้เกิดความสับสนและใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้มากนักในทางการแพทย์ เฉพาะผลการตรวจบางอย่างจึงยังควรใช้การแปลผลการตรวจแบบครั้งเดียวอยู่ครับ ยกเว้นบางกรณี

การแปลผลแบบครั้งเดียวนี้มีข้อจำกัดคือไม่สามารถบอกได้ว่าความผิดปกติเป็นของใหม่หรือไม่ หรือบอกได้ไม่ละเอียดเท่ากับการตรวจแบบเทียบระหว่างปี

เกณฑ์การแปลผลการตรวจแบบเทียบระหว่างปี (Longitudinal Interpretation)หรือการแปลผลแบบเทียบ หมายถึงเกณฑ์ที่ใช้แปลผลในกรณีที่มีผลการตรวจครั้งก่อนๆเป็นข้อมูลพื้นฐาน เช่น ผลการตรวจสมรรถภาพการได้ยินของพนักงานก่อนรับเข้ามาทำงาน หรือ ผลการตรวจสุขภาพประจำปีของพนักงานครั้งก่อนๆ สามารถนำผลการตรวจครั้งก่อนๆของพนักงานมาพิจารณาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเปรียบเทียบกับผลการตรวจสมรรถภาพการได้ยินที่ตรวจมาล่าสุดได้

ผลการเปรียบเทียบจะบอกได้ว่าเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นใหม่หรือไม่ ซึ่งเป็นจุดที่มีประโยชน์ของการแปลผลแบบเทียบระหว่างปีหรือการแปลผลแบบเทียบ

การแปลผลทั้งสองลักษณะมีคุณประโยชน์ในการแปลผล และข้อจำกัดในการแปลผลที่แตกต่างกัน

เราควรพิจารณาให้เหมาะสมครับว่าจะใช้เกณฑ์การแปลผลแบบใด ซึ่งต้องอาศัยองค์ความรู้ทางการแพทย์ จึงจะเข้าใจว่าสิ่งที่ตรวจไปนั้นคืออะไร คุณสมบัติของการตรวจแต่ละรายการเป็นอย่างไร ค่ามาตรฐานและค่าอ้างอิงที่ใช้แปลผลการตรวจนั้นใช้สำหรับทำอะไร

สำหรับผลการตรวจสมรรถภาพการได้ยินนั้นหากแปลผลการตรวจแบบครั้งเดียวจะได้ผลแต่ละปีว่าปกติหรือผิดปกติเท่านั้น พอมารวมดูหลายๆปีจะกลายเป็นว่าบางปีปกติบางปีผิดปกติทำให้พนักงานเกิดความสับสนขึ้นได้ครับ ในกรณีที่ความผิดปกติจะพบได้เหมือนๆเดิมในทุกๆปี หรือแย่ลงไปอีก หรืออาจจะดีขึ้นก็ได้

ในกรณีนี้หมอบีแนะนำนะครับว่าสำหรับการตรวจสมรรถภาพการได้ยินเราควรใช้การแปลผลการตรวจแบบเทียบระหว่างปีหรือการแปลผลแบบเทียบถ้าเป็นไปได้ครับ

นอกจากจะทำให้ผลการวิเคราะห์ดูน่าเชื่อถือมากขึ้นแล้ว ยังช่วยทำให้เห็นแนวโน้มการเกิดโรคประสาทหูเสื่อมจากการสัมผัสเสียงดัง (Noise Induce Hearing Loss ,NIHL) ของพนักงานแต่ละคนในสถานประกอบการได้ครับ

เกณฑ์การแปลผลการตรวจสมรรถภาพการได้ยินแบบเทียบระหว่างปี (Longitudinal Screening Audiogram Interpretation) จะมีหลายเกณฑ์ด้วยกันครับ แต่ที่ใช้กันอย่างกว้างขวางนั้นจะมีอยู่ 2 เกณฑ์ด้วยกันครับคือ

เกณฑ์ของ OSHA (Occupational Safety and Health Administration) ที่เรียกว่า Standard Threshold Shift
และ
เกณฑ์ของ NIOSH (National Institute of Occupational Safety and Health) Significant Threshold Shift

ทั้งสองเกณฑ์ใช้แนวทางการวิเคราะห์ที่แตกต่างกันในหลายประเด็นได้แก่ ความถี่ในการวิเคราะห์และรูปแบบความถี่ที่ใช้วิเคราะห์ การปรับข้อมูลพื้นฐาน การบันทึกรายงานผลการตรวจที่ผิดปกติ การดำเนินการหลังจากพบการเปลี่ยนแปลงจากผลตรวจสมรรถภาพการได้ยิน การปรับแก้ปัจจัยเรื่องอายุ เป็นต้นครับ

สำหรับความถี่ที่ใช้ในการวิเคราะห์ของ OSHA เราจะใช้ความถี่ 2000 3000 และ 4000 Hz ในรูปแบบของค่าเฉลี่ยความถี่ในการวิเคราะห์ถ้าเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเกินกว่าค่าที่กำหนดไว้แปลผลว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ในขณะที่ NIOSH ใช้ค่าผลการตรวจโดยตรงที่ความถี่ 500 1000 2000 3000 4000 และ 6000 Hz มาวิเคราะห์หาความเปลี่ยนแปลงครับทำให้ของ NIOSH อาจมีความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่ความถี่ต่ำๆปนเข้ามาได้ง่ายกว่าครับ แต่ถ้ามองอีกมุมก็จะพบความผิดปกติที่ความถี่ 6000 Hz ได้ก่อน ซึ่งบางครั้งความถี่ 6000 Hz นี้จะเป็นความถี่แรกที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากการสัมผัสเสียงดังครับ

OSHA มีแนวทางการปรับข้อมูลพื้นฐานหรือการ Revised Baseline ทั้งในกรณีที่ผลการตรวจเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นและแย่ลง ในขณะที่ NIOSH มีแนวทางการปรับข้อมูลพื้นฐานในกรณีที่ผลการตรวจสมรรถภาพการได้ยินแย่ลงเท่านั้น

การตรวจสมรรถภาพการได้ยินเป็นการตรวจที่ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ถูกตรวจอย่างมากในการกดสัญญาณทันทีที่ได้ยินเสียงจึงมีโอกาสเกิดความผิดพลาดขึ้นได้บ้างแม้จะดำเนินการตรวจอย่างได้มาตรฐานแล้วนะครับ ยิ่งถ้าผู้ให้บริการตรวจสุขภาพไม่ได้มีการควบคุมการตรวจสุขภาพแล้วยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลยครับ จึงเป็นไปได้มากว่าผลการตรวจบางครั้งจะดีกว่าปกติมากๆ หรือแย่กว่าที่เป็นจริงมากๆได้ครับ

ลองคิดดูว่าผลการตรวจวัดที่เป็นข้อมูลพื้นฐานแย่กว่าที่พนักงานเป็นจริงมากๆอาจเกิดได้จากการที่ปีแรกพนักงานยังงงๆกับวิธีการตรวจอยู่เลยให้ความร่วมมือได้ไม่ดีนักทำให้มีปัญหาในการวิเคราะห์ในปีต่อไป แบบนี้แล้วปีหลังๆตรวจไปยังไงก็ไม่มีทางพบการเปลี่ยนแปลงในทางที่แย่ลงได้เลยครับถ้าเป็น

ของ OSHA จะแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการปรับข้อมูลพื้นฐานให้ดีขึ้น แต่ NIOSH แก้ไม่ได้

นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับระยะเวลาในการตรวจซ้ำก่อนการปรับข้อมูลพื้นฐานของทั้ง OSHA และ NIOSH ที่แตกต่างกันอีกนะครับ

NIOSH และ ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำโครงการอนุรักษ์การได้ยิน พ.ศ. 2553 ข้อ 7 จะกำหนดหลังจากพบการเปลี่ยนแปลงจากผลตรวจสมรรถภาพการได้ยินให้มีการดำเนินการจัดการความเสี่ยงทันทีโดยไม่เกี่ยวว่าจะเป็นโรคจากการทำงานหรือไม่ บ่อยครั้งที่ข้อนี้อาจทำให้เราต้องทบทวนความเสี่ยงบ่อยจนเกินความจำเป็นเพราะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ บางครั้งก็ไม่ใช่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการทำงานที่ควรให้ความสนใจ

OSHA มีแนวทางการบันทึกรายงานผลการตรวจผิดปกติที่ตรวจพบได้ในรายงาน OSHA 300 log ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาเป็นขั้นตอนก่อนว่าความเปลี่ยนแปลงที่แปลผลได้เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นจริงตามที่ระบุไว้ในหมวด 1940.10(a)และความผิดปกตินั้นมีสาเหตุมาจากการทำงานหรือก็คือการวินิจฉัยโรคประสาทหูเสื่อมจากการทำงานสัมผัสเสียงดังโดยแพทย์เฉพาะทางอาชีวเวชศาสตร์นั่นเองครับ

เกณฑ์ของ OSHA จะให้มีการพิจารณาเป็นขั้นตอนก่อนที่จะสรุปว่าเป็นจากการทำงานและค่อยนำผลการตรวจไปดำเนินการหลังจากพบการเปลี่ยนแปลง ประเมินความเสี่ยงซ้ำ และควบคุมความเสี่ยงอีกที

การพิจารณาผลการตรวจสมรรถภาพการได้ยินที่ผิดปกติแบบเป็นขั้นตอนของ OSHA

การปรับแก้ปัจจัยเรื่องอายุ (Age Correction หรือ Age Adjustment) คือการที่เราตัดปัจจัยเรื่องอายุออกจากผลการตรวจสมรรถภาพการได้ยิน ก่อนอื่นเราคงต้องเข้าใจก่อนว่านอกเหนือจากเสียงที่ดังในสถานที่ทำงานหรือเสียงดังจากแหล่งอื่นๆในชีวิตประจำวันแล้ว ยังมีสาเหตุอื่นๆที่ทำให้เกิดการเสื่อมของสมรรถภาพการได้ยินที่ตรวจพบนั้นได้ หนึ่งในสาเหตุเหล่านั้นคือเรื่องของอายุครับ ลองคิดดูนะครับว่าการที่คนเราเมื่ออายุมากขึ้นๆ อวัยวะทุกส่วนของร่างกายเราจะค่อยๆเสื่อมลงไปตามวัย และอวัยวะในการได้ยินบริเวณหูชั้นในก็เช่นเดียวกันครับ

ในการวิเคราะห์ของ OSHA นั้นเราสามารถเลือกที่จะปรับแก้ปัจจัยเรื่องอายุที่ว่านี้ได้ครับแต่ของ NIOSH จะไม่สามารถทำการปรับแก้ปัจจัยเรื่องอายุที่มากขึ้นของพนักงานได้

ทำให้ OSHA มีข้อดีอีกอย่างคือช่วยลดการรายงานผลผิดปกติที่พร่ำเพรื่อด้วยเหตุจากอายุของพนักงานได้ การปรับแก้ปัจจัยเรื่องอายุสามารถกระทำได้โดยดูจากค่าที่จะเสื่อมตามอายุของแต่ละเพศในแต่ละคลื่นความถี่ของการตรวจการได้ยินตามที่มีการศึกษาหาข้อสรุปไว้ใน ตาราง Age Correction ครับ

ตาราง Age Correction ของ OSHA

หมอบีแถมให้นิดนึงครับจากตาราง Age Correction จะเห็นได้ว่า

ผู้หญิงที่อายุเยอะๆแล้วจะสูญเสียการได้ยินในความถี่ต่ำหรือความถี่ที่ใช้ในการพูดคุยสื่อสารมากกว่า ในขณะที่ผู้ชายจะสูญเสียการได้ยินความถี่สูงซึ่งเป็นความถี่เดียวกับที่เสื่อมในการสัมผัสกับเสียงดังก่อนครับ

อาจจะสรุปได้ว่าตลอดช่วงชีวิตของผู้หญิงนั้นจะมีพฤติกรรมที่ได้รับคลื่นเสี่ยงความถี่ในการพูดคุยมากกว่าผู้ชายก็เป็นได้ครับ อิอิ

เราไม่ควรโทษบริษัทรับตรวจสุขภาพที่แปลผลแบบครั้งเดียวนะครับเพราะทางบริษัทรับตรวจสุขภาพอาจไม่มีผลการตรวจสุขภาพของปีก่อนๆมาเทียบ หรืออาจไม่แน่ใจว่าต้องเทียบกับปีไหน แต่สถานประกอบการควรเอาผลการตรวจการได้ยินที่เป็นตัวเลขดิบมาแปลผลใหม่และวิเคราะห์ใหม่ให้เกิดประโยชน์ครับ

โอกาสหน้าหมอบีจะมาชวนคุยต่อเรื่องในรายละเอียดที่มีการศึกษามาแล้วว่า Standard Threshold Shift ของ OSHA และ Significant Threshold Shift ของ NIOSH ที่เคยมีการทดลองใช้มาแล้ว มาดูกันว่าของใครดีกว่ากันอย่างไรนะครับใน แปลผลการได้ยินแบบไหนดี OSHA NIOSH
Share This Post :
Tags : , ,

ติดตาม "หมอบี" ทาง Facebook

บทความใหม่ล่าสุด

[2][recent][recent][บทความใหม่ล่าสุด]

Social Media

Get update news from our social media.