พารามิเตอร์การตรวจสุขภาพน่ารู้ 3 ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด

สวัสดีครับ หมอบีเชื่อว่าหลายท่านน่าจะเคยตรวจสุขภาพประจำปีและมีการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดร่วมด้วย วันนี้เราจะมาคุยกันว่า ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดนั้นประกอบไปด้วยอะไรบ้าง แปลผลอย่างไร และเมื่อผลผิดปกติควรดำเนินการเช่นไรต่อครับ

ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count, CBC) เป็นการตรวจนับเม็ดเลือดแต่ละชนิดด้วยเครื่องตรวจของห้องปฏิบัติการ เป็นการตรวจพื้นฐานอย่างหนึ่งทางการแพทย์ สามารถใช้ตรวจหาการติดเชื้อได้ แต่ไม่สามารถระบุชนิดของเชื้อโรคที่พบได้ชัดเจน ในงานอาชีวอนามัยสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้ง

1.ประเมินความสมบูรณ์พร้อมของร่างกาย เช่น กรณีเข้าทำงานในที่อับอากาศ การทำงานบนที่สูง พนักงานขับรถ

อ่านรายละเอียดการทำงานบนที่สูงได้ที่ Working At Height ตรวจสุขภาพอย่างไรทำงานปลอดภัยบนที่สูง

อ่านรายละเอียดการทำงานขับรถได้ที่ Fitness ของพนักงานขับรถ

2.ตรวจตามปัจจัยเสี่ยงเพื่อเฝ้าระวังโรคจากการทำงาน โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากการสัมผัสสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อระบบเลือด เช่น สารเบนซีนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สารตะกั่วในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่

3.ตรวจเพื่อเป็นสวัสดิการให้พนักงาน แม้ไม่สัมผัสปัจจัยเสี่ยง โดยกรมการแพทย์แนะนำให้ตรวจเพียงครั้งเดียวตลอดอายุงาน แต่สถานประกอบการหลายแห่งนิยมตรวจให้พนักงานทุกคนทุกปี

การใช้ประโยชน์จากผลตรวจสุขภาพที่แตกต่างกัน ย่อมต้องมีเกณฑ์การแปลผลที่แตกต่างกันจริงมั้ยครับ?


ก่อนอื่นเราคงต้องมาทำความเข้าใจผลตรวจของการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดก่อนครับ โดยเม็ดเลือดแบ่งออกเป็นสามกลุ่มได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด

1.เม็ดเลือดแดง เป็นตัวนำอากาศ หรือออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะทั่วร่างกาย หากเม็ดเลือดแดงน้อย ร่างกายย่อมอ่อนแรง อ่อนเพลีย

2.เม็ดเลือดขาว เป็นภูมิคุ้มกันโรคของร่างกาย หากมีการติดเชื้อ หรือโรคบางอย่าง เช่นมะเร็งเม็ดเลือดจะมีค่าที่สูงขึ้นกว่าปกติ ทั้งนี้เม็ดเลือดขาวยังแบ่งย่อยได้หลายชนิด เช่น Lymphocyte, Monocyte, Basophil, Eosinophil ซึ่งมีความจำเพาะต่อแต่ละโรคที่ต่างกัน

3.เกล็ดเลือด ช่วยให้เลือดหยุดได้เร็ว หากมีค่าน้อยกว่าปกติอาจทำให้เกิดจ้ำเลือดได้ตามร่างกาย และอวัยวะภายใน แม้ไม่ประสบอุบัติเหตุใด อาจน้อยได้จากการติดเชื้อบางอย่าง เช่นไข้เลือดออก

จะเห็นว่าแต่ละกลุ่มจะมีความจำเพาะต่อโรคแต่ละโรคที่แตกต่างกัน ไม่ควรสรุปแบบเหมารวมด้วยคำว่า ปกติ หรือผิดปกติ


การประเมินความสมบูรณ์พร้อมในการทำงานต้องพิจารณาตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เช่นการทำงานในที่อับอากาศต้องมีเม็ดเลือดแดง Hemoglobin, Hb และ Hematocrit, Hct รวมทั้งเกล็ดเลือดตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งค่าที่กำหนดนั้นแตกต่างจากค่ามาตรฐานทางห้องปฏิบัติการ เนื่องจากค่ามาตรฐานทางห้องปฏิบัติการเป็นค่าที่คนส่วนใหญ่ที่ไม่เป็นโรคจะอยู่ในเกณฑ์ แต่ค่าเกณฑ์กำหนดสำหรับประเมินความสมบูรณ์พร้อมในการทำงานจะคัดคนที่สุขภาพดีจริงเข้าทำงานที่มีความเสี่ยงสูง

การตรวจตามปัจจัยเสี่ยงสัมผัสสารเบนซีนในการทำงาน ตามแนวทางของ OSHA 1910.1028 App C แนะนำให้ติดตามพารามิเตอร์จากการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดบางรายการเป็นพิเศษ เช่น

1.เม็ดเลือดขาวรวม White Blood Cell, WBC 4200 - 10200 ในคนที่ไม่สูบบุหรี่และสูงกว่านี้ในกรณีที่สูบบุหรี่
2.เม็ดเลือดขาว Monocyte 2.0-8.0%
3.การลดลงของเม็ดเลือดขาวแต่ละพารามิเตอร์จะมีความสำคัญ จึงต้องเปรียบเทียบผลตรวจกับข้อมูลพื้นฐานทางสุขภาพเดิมของพนักงานแต่ละราย
4.อื่นๆ ควรศึกษาเพิ่มเติมจาก OSHA 1910.1028 App C ตามลิงก์นะครับ

นอกจากนี้ OSHA ยังแนะนำให้ตรวจ Peripheral Blood Smear ควบคู่ไปกับการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดด้วยในบางกรณี

Peripheral Blood Smear, PBS เป็นการนำหยดเลือดมาไถลงสไลด์แล้วส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาเซลล์ที่ผิดปกติ ตัวอย่างเซลล์ที่ผิดปกติที่อาจพบได้จากการตรวจ PBS ได้แก่ Pelger-Huet Anomaly

ภาพเม็ดเลือดขาวที่ผิดปกติ พบได้จากการตรวจ PBS อ้างอิงจาก https://imagebank.hematology.org/image/17390/pseudo-pelgerhut-anomaly

จะเห็นได้ว่ารายการตรวจ CBC เป็นรายการตรวจที่มีหลายพารามิเตอร์ แสดงผลได้กว้าง ควรเลือกเกณฑ์การแปล วิเคราะห์ผลให้สอดคล้องกับโรคที่ต้องการเฝ้าระวัง กรณีที่ผลตรวจผิดปกติควรให้แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ตรวจหาอาการและอาการแสดงของโรคระบบเลือด และพิจารณาตรวจซ้ำ ตรวจเพิ่มเติม และส่งพบแพทย์เฉพาะทาง อายุรแพทย์โรคระบบเลือดเพื่อการตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อนะครับ

กรณีเฝ้าระวังโรคจากการทำงาน เช่นงานสัมผัสสารเบนซีน ตะกั่ว ให่้ส่งพบแพทย์อาชีวเวชศาสตร์วินิจฉัยว่าความผิดปกติที่พบนั้นเกิดจากการทำงานหรือไม่ด้วยครับ

และเมื่อผลผิดปกติแล้วควรให้แพทย์อาชีวเวชศาสตร์พิจารณาว่าภาวะสุขภาพนั้นส่งผลกระทบต่อการทำงานอย่างไร จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนงานให้เหมาะสมกับสุขภาพอย่างไรด้วยครับ

แนะนำุให้อ่านบทความ ตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงให้ได้ประโยชน์ ครับ
Share This Post :
Tags : ,

ติดตาม "หมอบี" ทาง Facebook

บทความใหม่ล่าสุด

[2][recent][recent][บทความใหม่ล่าสุด]

Social Media

Get update news from our social media.