ABNORMAL การเตรียมรับมือผลตรวจสุขภาพผิดปกติ
สวัสดีครับวันนี้ หมอบี จะมาแนะนำ ผู้เข้ารับการตรวจสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจตามปัจจัยเสี่ยงจากการทำงาน การตรวจสุขภาพก่อนเข้าทํางาน การตรวจสุขภาพเพื่อประเมินความพร้อมในการทำงาน รวมทั้งการตรวจสุขภาพทั่วไป เกี่ยวกับ ผลตรวจสุขภาพที่ผิดปกติ ครับ
เชื่อว่าทุกท่านคงเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการตรวจสุขภาพมาแล้วไม่ว่าจะเป็นการเข้ารับการตรวจเองการที่มีบุคคลใกล้ชิดเข้ารับการตรวจ และหากเป็น บุคลากรทางการแพทย์ก็อาจมีประสบการณ์ในฐานะ ผู้ให้บริการตรวจสุขภาพในงานอาชีวอนามัย บทความนี้น่าจะมีประโยชน์กับทุกท่านให้สามารถนำไปใช้ได้อย่างเหมาะสมตามแต่ละสถานการณ์ครับ
การตรวจสุขภาพนั้นมีโอกาสที่จะพบ ผลตรวจสุขภาพที่ผิดปกติ บ่อยครั้งที่เข้ารับการตรวจพบผลที่ผิดปกติก็จะเกิดความกังวลใจ บุคคลใกล้ชิดของผู้เข้ารับการตรวจก็มีความกังวลใจเช่นเดียวกัน หรือแม้แต่บุคลากรทางการแพทย์ที่ให้บริการ ก็อาจไม่แน่ใจว่า จะดำเนินการเช่นไรจึงจะครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่กฎหมายและเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการทางการแพทย์
ทั้งนี้หากมีความสงสัยว่ารายการตรวจสุขภาพที่ผู้ให้บริการจัดให้มีความเหมาะสมหรือไม่ แนะนำให้ศึกษาเพิ่มเติมได้จาก ตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงให้ได้ประโยชน์ และ การออกแบบรายการตรวจสุขภาพ และ การเลือกตรวจสารเคมีในร่างกาย
เมื่อพบผลตรวจสุขภาพที่ผิดปกติแล้วมีสิ่งใดที่เราควรคำนึงถึงบ้าง?
1. อย่างแรกที่ควรนึกถึงคือความผิดปกติดังกล่าวมีความจำเป็นที่ต้องเข้ารับการรักษาหรือไม่ ดังนั้นเมื่อพบความผิดปกติจึงควรปรึกษาแพทย์ทันทีว่าความผิดปกติดังกล่าวจำเป็นต้องรับการรักษาและเฝ้าระวังติดตามอาการอย่างไร
ในกรณีที่รายการตรวจนั้นเป็นรายการตรวจตามปัจจัยเสี่ยงหากแพทย์แนะนำว่ามีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษา ผู้เข้ารับการตรวจที่มีสถานะเป็นลูกจ้างสามารถร้องขอให้นายจ้างส่งเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมได้ เนื่องจาก กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างและส่งผลการตรวจแก่พนักงานตรวจแรงงานพ.ศ 2547 ข้อ 9 ระบุว่าในกรณีที่พบความผิดปกติของลูกจ้าง ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาลทันที และค้นหาสาเหตุของความผิดปกตินั้นว่าเกิดจากการทำงานหรือไม่เพื่อดำเนินการป้องกัน
และควรปรึกษานายจ้างว่า รายการตรวจดังกล่าวเป็นรายการตรวจตามปัจจัยเสี่ยงใช่หรือไม่
2. นอกจากความจำเป็นที่ต้องเข้ารับการรักษาแล้ว ผู้เข้ารับการตรวจและบุคคลใกล้ชิด ควรตระหนักว่า ความผิดปกติที่พบจากการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงอาจเกิดจากสาเหตุในการทำงาน ได้ควรปรึกษาแพทย์ผู้ตรวจขอความเห็นเบื้องต้นว่าผลตรวจสุขภาพดังกล่าวอาจเกิดขึ้นจากการทำงานได้หรือไม่เพื่อจะได้แจ้งให้กับนายจ้างดำเนินการสอบสวนหาสาเหตุและดำเนินการป้องกันต่อไป
ซึ่งเป็นสิ่งที่กำหนดอยู่ในกฎหมายข้อเดียวกันกับข้างต้น เช่น การตรวจสมรรถภาพการได้ยินพบความผิดปกติตามที่กฎหมายกำหนด นายจ้างจะต้องส่งตรวจซ้ำ เพื่อยืนยันความผิดปกติภายใน 30 วัน และสอบสวนว่าเกิดจากการทำงานหรือไม่ แนะนำให้อ่านเกี่ยวกับการสูญเสียการได้ยินจากการทำงานสัมผัสเสียงดังได้ที่ หูพังจากเสียงดัง ครับ
ซึ่งเป็นสิ่งที่กำหนดอยู่ในกฎหมายข้อเดียวกันกับข้างต้น เช่น การตรวจสมรรถภาพการได้ยินพบความผิดปกติตามที่กฎหมายกำหนด นายจ้างจะต้องส่งตรวจซ้ำ เพื่อยืนยันความผิดปกติภายใน 30 วัน และสอบสวนว่าเกิดจากการทำงานหรือไม่ แนะนำให้อ่านเกี่ยวกับการสูญเสียการได้ยินจากการทำงานสัมผัสเสียงดังได้ที่ หูพังจากเสียงดัง ครับ
นายจ้างสามารถดำเนินการสอบสวนหาสาเหตุของผลสุขภาพที่ผิดปกติได้โดยปรึกษาคลินิกโรคจากการทำงานประจำจังหวัด หรือในพื้นที่ หรือปรึกษาแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ ทั้งนี้สามารถค้นหาคลินิกโรคจากการทำงานในพื้นที่ของท่านได้ที่ รายชื่อคลินิกโรคจากการทำงาน
บ่อยครั้งที่นายจ้างละเลยในการดำเนินการสอบสวนหาสาเหตุดังกล่าว หรือ ไม่ส่งลูกจ้างเข้ารับการรักษา อาจทำให้ลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานนำไปร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยตนเอง เช่น สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กองทุนเงินทดแทน ศูนย์ดำรงธรรม หรือ ศาลแรงงาน ในพื้นที่ครับ
นอกจากนี้เมื่อนายจ้างพบว่าผลตรวจที่ผิดปกติดังกล่าวเกิดจากการทำงานกับสารเคมีอันตราย นายจ้างยังมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะตรวจวัดสารเคมีในสภาพแวดล้อมการทำงาน และทำการวิเคราะห์ความเข้มข้น ภายใน 30 วัน และพิจารณามาตรการป้องกันเพิ่มเติมตาม ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีตรวจวัด และการวิเคราะห์ผลการตรวจตรวจวัดระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตราย พ.ศ. 2559 ด้วยครับ
ในทางปฏิบัติเมื่อพบความผิดปกติจากการตรวจตามปัจจัยเสี่ยง หมอบีแนะนำให้ปรึกษาแพทย์พิจารณาตรวจยืนยันซ้ำว่าความผิดปกติดังกล่าวเป็นของจริง เนื่องจากความผิดปกติหลายอย่างที่พบจากการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงที่เป็นเพียงการตรวจคัดกรองอาจเป็นแบบชั่วคราว ไม่มีความสำคัญทางคลินิก และอาจหายไปได้เองเมื่อทำการตรวจวินิจฉัยยืนยัน เช่น การตรวจสมรรถภาพการได้ยินในมาตรการอนุรักษ์การได้ยิน การตรวจยืนยันความผิดปกติดังกล่าวสามารถใช้สิทธิประกันสังคมในการตรวจได้ หลังจากยืนยันความผิดปกติแล้วค่อยพิจารณาว่า เกิดจากการทำงานหรือไม่ เมื่อได้ข้อสรุปสาเหตุของความผิดปกติแล้วจึงพิจารณา ส่งรับการรักษาตามสิทธิอย่างเหมาะสม โดย หากเกิดจากการทำงานสามารถใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทนได้ พร้อมกันนั้นให้แจ้ง นายจ้างดำเนินการป้องกันสาเหตุ ปรับเปลี่ยนงานให้เหมาะสม สรุปผลการดำเนินการและรายงาน ให้สวัสดิการและคุ้มครอ
งแรงงานผ่านรายงาน จผส.1 ในแต่ละครั้งที่ทำการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยง
แนะนำให้ศึกษาสิทธิประโยชน์ประกันสังคมกรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายได้ที่ ประกันสังคม และควรศึกษา สิทธิประโยชน์กองทุนเงินทดแทนเพิ่มเติม เกี่ยวกับ 1.การรักษาพยาบาล 2.ค่าทดแทนกรณีไม่สามารถทำงานได้ สูญเสียสมรรถภาพ สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ และเสียชีวิต 3.การส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาล 4.วิธีการแจ้งเหตุประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ได้ที่ กองทุนเงินทดแทน ครับ
3. นอกจากนี้ผู้เข้ารับการตรวจและบุคคลใกล้ชิด อาจตั้งข้อสงสัยว่าลักษณะการทำงานที่นายจ้างมอบหมายให้แม้จะไม่ได้เป็นสาเหตุในการเกิดโรคดังกล่าวแต่อาจมีผลทำให้ผลสุขภาพที่ผิดปกตินั้นแย่ลงได้หากทำงานที่มีความเสี่ยงบางอย่าง เช่น พนักงานที่มีผลตรวจสุขภาพการทำงานของตับผิดปกติหากไปทำงานกับสารเคมีอันตรายย่อมมีโอกาสที่จะทำให้ตับซึ่งเป็นอวัยวะที่ใช้ขจัดทำลายสารพิษทำงานหนักจนเสื่อมสภาพเป็นโรคตับที่รุนแรงได้ง่ายขึ้นแม้จะได้รับการรักษากับแพทย์เฉพาะทางอย่างถูกต้องจึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับใบรับรองแพทย์ไปมอบให้นายจ้างเพื่อพิจารณาปรับเปลี่ยนงาน
แนะนำให้อ่าน การทำงานของตับ เพิ่มเติมครับ
4. อีกเรื่องหนึ่งที่ควรนึกถึงคือผลตรวจสุขภาพที่ผิดปกตินั้นอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการทำงานหรือไม่หากไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์แนะนำใบรับรองแพทย์ที่ระบุว่าผลตรวจสุขภาพนั้นอาจเป็นอุปสรรคต่อการทำงานบางอย่างที่นายจ้างได้มอบหมายแล้วนำใบรับรองแพทย์นั้นไปมอบให้นายจ้างเพื่อพิจารณาปรับเปลี่ยนงานให้เหมาะสมต่อไปเช่นกัน ทั้งนี้การประเมินว่าเป็นอุปสรรคต่อการทำงานหรือไม่เป็นบทบาทที่กฎหมายฉบับเดียวกันกับข้างต้น กำหนดไว้ในข้อ 5 ให้แพทย์ที่ออกตรวจสุขภาพให้ความเห็นดังกล่าว โดยเฉพาะงานที่มีความเสี่ยงสูงทั้งต่อตัวพนักงานเองและบุคคลรอบข้างควรพิจารณาข้อนี้เป็นพิเศษครับ เช่น งานในที่อับอากาศ งานบนที่สูง งานขับรถขนส่งสารเคมีอันตราย งานขับรถโดยสารสาธารณะ งานบนแท่นขุดเจาะน้ำมัน งานบนเรือเดินทะเล หรือแม้แต่ งานที่ทำกับอาหารหรือส่วนประกอบอาหาร
แนะนำให้อ่าน Fitness ของพนักงานขับรถ และ ตรวจสุขภาพอย่างไรปลอดภัยบนที่สูง และ การตรวจสุขภาพคนเดินเรือ เพิ่มเติมครับ
นอกจากนี้ แม้ว่าการตั้งครรภ์จะไม่ใช่ผลตรวจสุขภาพที่ผิดปกติ แต่ก็เป็น ภาวะสุขภาพที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการทำงานบางอย่าง และ การทำงานบางอย่างอาจทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดอย่างผิดปกติได้ ไม่ว่าจะเป็นกา่รคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักทารกแรกเกิดน้อย หรือทารกพิการโดยกำเนิด หญิงตั้งครรภ์สามารถขอให้แพทย์ออกใบรับรองแนะนำให้ปรับเปลี่ยนงานหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆได้เช่นกันครับ แนะนำให้อ่าน การดูแลพนักงานหญิงที่ตั้งครรภ์ เพิ่มเติมครับ
เมื่อนายจ้างได้รับใบรับรองแพทย์ที่ระบุอุปสรรคในการทำงาน หรือความเสี่ยงที่การทำงานอาจทำให้สุขภาพของลูกจ้างแย่ลงจากลูกจ้าง เป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่นายจ้างต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนงานให้เหมาะสมกับภาวะสุขภาพของลูกจ้างแต่ละราย โดยนายจ้างอาจจัดทีมสหสาขาวิชาชีพอันประกอบไปด้วย นายจ้าง ฝ่ายบุคคล หัวหน้างาน เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย และ แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ ตลอดจนสหภาพแรงงานร่วมกันกับลูกจ้าง ช่วยกันพิจารณาหางานที่เหมาะสมต่อไป
ในบางกรณีที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานใดๆได้เลย ควรพิจารณาศึกษา สิทธิประโยชน์ประกันสังคมกรณีว่างงาน และ สิทธิประโยชน์กองทุนเงินทดแทนกรณีไม่สามารถทำงานได้ เพิ่มเติมครับ
จะเห็นว่าทั้ง 4 ประเด็นข้างต้นเป็นประเด็นสำหรับการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงจากการทำงานตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดให้ตรวจเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากเป็น รายการตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงานและการตรวจสุขภาพเพื่อประเมินความพร้อมในการทำงาน อาจพิจารณาประเด็นหลักคือ ความผิดปกติอาจเป็นอุปสรรคในการทำงานหรือไม่ และอาจต้องเข้ารับการรักษาเพื่อแก้ไขความผิดปกติอย่างไรให้ทำงานได้ และประเด็นที่ผลตรวจสุขภาพผิดปกติอาจแย่ลงได้หากทำงานที่มีความเสี่ยงบางอย่าง
สำหรับรายการตรวจสุขภาพทั่วไป จัดเป็นสวัสดิการเพิ่มเติมที่นายจ้างจัดให้แก่ลูกจ้าง เมื่อพบความผิดปกติไม่จำเป็นต้องมีการสอบสวนโรคหาสาเหตุ และนายจ้างสามารถให้ลูกจ้างไปรับการรักษาได้เองตามสิทธิ์การรักษาที่มีอยู่ ซึ่งแตกต่างจากรายการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างได้รับการรักษาทันที ดังนั้นการพิจารณาว่ารายการตรวจสุขภาพดังกล่าวเป็นรายการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงหรือรายการตรวจสุขภาพทั่วไปนั้นจึงมีความสำคัญที่ต้องแยกจากกันให้ชัดเจน แต่ทั้งนี้
ลูกจ้างสามารถขอให้แพทย์ออกใบรับรองแพทย์เพื่อขอปรับเปลี่ยนงานจากผลตรวจรายการตรวจสุขภาพทั่วไปที่ผิดปกติได้เช่นกัน
รายการตรวจสุขภาพบางรายการอาจเป็นรายการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงสำหรับพนักงานบางคนและเป็นรายการตรวจสุขภาพทั่วไปสำหรับพนักงานอีกกลุ่มหนึ่งได้ เช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดจะเป็นรายการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงของผู้ที่ทำงานสัมผัสสารเคมีบางอย่าง เช่น เบนซีนตะกั่ว ปรอท สารกัมมันตภาพรังสี และยาปราบศัตรูพืช ที่ต้องตรวจเป็นประจำทุกปี แต่จะถูกจัดให้เป็นรายการตรวจสุขภาพทั่วไปสำหรับผู้ที่ทำงานที่ไม่ได้มีการสัมผัสสารเคมี ที่อาจเป็นอันตรายต่อเม็ดเลือดและไขกระดูก ที่อาจตรวจเพียงครั้งเดียวตลอดระยะเวลาที่เข้าทำงาน ลูกจ้างจึงควรปรึกษานายจ้างเมื่อพบความผิดปกติว่าเป็นรายการตรวจตามปัจจัยเสี่ยงหรือไม่ เพื่อรับสิทธิประโยชน์ในการรักษาและหาสาเหตุของโรคที่เพิ่มขึ้น
แนะนำให้อ่านเนื้อหาเกี่ยวกับ การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เพิ่มเติมครับ
แนะนำให้อ่านเนื้อหาเกี่ยวกับ การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เพิ่มเติมครับ
ผลตรวจสุขภาพที่ผิดปกติ นอกจากผลตรวจเลือด ปัสสาวะ เอกซเรย์ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ สมรรถภาพหู ตา ปอด แล้วยังรวมถึง การซักประวัติโดยแพทย์พบอาการผิดปกติ เช่น อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหลังในผู้ที่ทำงานยกของหนัก ก้มหลังและบิดเอี้ยวลำตัวบ่อยครั้ง หรือ การตรวจร่างกายโดยแพทย์พบความผิดปกติ เช่น ผื่นผิวหนังอักเสบในผู้ที่ทำงานสัมผัสสารเคมีที่มีฤทธิ์ระคายเคือง
แนะนำให้อ่านเกี่ยวกับการปวดหลังจากการทำงานเพิ่มเติมได้ที่ 10 สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการปวดหลัง และ ปวดหลังจากการทำงาน VS กองทุนเงินทดแทน ครับ
ภาพผื่นผิวหนังอักเสบที่แพทย์อาจตรวจพบความผิดปกติจากการตรวจร่างกาย จาก www.occderm.asn.au
การออกแบบรายการตรวจสุขภาพ ทั้งรายการตรวจตามปัจจัยเสี่ยง รายการตรวจสุขภาพก่อนเข้างาน รายการตรวจสุขภาพเพื่อประเมินความสมบูรณ์พร้อมในการทำงาน เป็นบทบาทของแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ที่ได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติจากแพทยสภา สำหรับรายการตรวจสุขภาพทั่วไป อาจพิจารณาได้จากคู่มือรายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน รายการตรวจสุขภาพที่สำนักงานประกันสังคมจัดให้เป็นสวัสดิการเพิ่มเติมสำหรับผู้ประกันตน
ทำความรู้จักแพทย์อาชีวเวชศาสตร์เพิ่มเติมได้ที่ แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ ครับ
นอกจากออกแบบรายการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงแล้วแพทย์อาชีวเวชศาสตร์เป็นผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์และแปลผลการตรวจสุขภาพทั้งรายบุคคลและภาพรวมรายกลุ่มด้วยนะครับ แนะนำให้ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ วิเคราะห์และแปลผลตรวจสุขภาพ และ การเลือกโครงการสุขภาพให้เหมาะสมกับพนักงาน
หมอบีหวังว่า ทุกท่านจะมีความมั่นใจในการเตรียมรับมือผลตรวจสุขภาพที่ผิดปกติจากกรณีต่างๆ และได้รับประโยชน์จากการตรวจสุขภาพอย่างเต็มที่ให้คุ้มกับที่ เสียเงิน เสียเวลา เสียเลือด ในแต่ละครั้งที่เข้ารับการตรวจ
สุดท้ายนี้ หมอบี ขอแนะนำประชาสัมพันธ์งานประชุมวิชาการของ สมาพันธ์อาชีวอนามัยและความปลอดภัยแห่งประเทศไทย การประชุมวิชาการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยแห่งประเทศไทย 2019 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 14-15 สิงหาคม 2562 ครับ ตอนนี้ที่พักใกล้เต็มแล้ว อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.tcoh2019.com สำหรับวันนี้สวัสดีครับ